top of page

Separation Anxiety (ความกังวลในการแยกจาก)

Tips for Saying Goodbye

เคล็ดลับการบอกลาลูก

เด็กแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะ และมีปฏิกิริยาต่อการแยกจากผู้ปกครองไม่เหมือนกัน ผู้ปกครองควรคำนึงถึงสิ่งที่ท่านแสดงออกต่อลูก เพราะทุกการแสดงออก และความรู้สึกส่งผลต่อการสร้างความพร้อมของเขา ถ้าพ่อแม่บอกลาลูกด้วยปฏิกิริยาเชิงบวก เด็กจะสื่อได้ถึงความรู้สึกนั้นได้ ลูกก็จะรู้สึกคลายกังวลลงได้เร็วกว่า เตรียมความพร้อมให้ลูกล่วงหน้า บอกว่าจะเกิดอะไรขึ้น เช่น “วันนี้วันไปโรงเรียน !” สร้างกิจวัตรของการบอกลา เด็กๆมักชอบสิ่งที่คาดการณ์ได้ ลองพูดคำเดิมซ้ำๆกันทุกวันเมื่อส่งลูกไปโรงเรียน เช่น “ ขอให้สนุกกับเพื่อนๆนะลูก” “แม่รักหนูมาก เดี๋ยวตอนเย็นคุณแม่มารับ บ๊ายบายจ๊ะ” เมื่อเด็กๆเห็นคุณพ่อคุณแม่พูดลาในทางบวก และเค้าก็พบว่า คุณแม่มารับเขาทุกวันตามที่ได้พูดสัญญาไว้ ความไว้เนื้อเชื่อใจของเด็กได้ถูกสร้างขึ้นทุกวันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนั่นจะช่วยให้เด็กรู้สึกคลายความกังวลที่กลัวจะถูกทอดทิ้ง ทำให้เค้าค่อยๆผ่อนคลายและสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่และและมีความรู้สึกดีต่อการมาโรงเรียน

มันยังคงเป็นเรื่องที่ทำใจค่อนข้างยากในฐานะพ่อแม่ที่ต้องเห็นลูกร้องไห้ขณะการแยกจาก กรุณาไม่หันหลังกลับมาอีกเมื่อสิ้นสุดการลาจาก มันเป็นปฎิกิริยาตามธรรมชาติของพ่อแม่หลายๆท่าน ที่อยากหันกลับไปโอ๋ลูกอีก แต่ตามความเป็นจริงแล้วมันส่งผลทำให้การแยกจากครั้งที่สอง ยิ่งมีความยากขึ้นไปอีก

หลังจากการแยกจาก หากคุณพ่อคุณยังคงมีความกังวล ก็สามารถโทร หรือไลน์ถามคุณครูว่าลูกของท่านเป็นอย่างไรได้ ส่วนใหญ่เด็กจะปรับตัวได้ดีหลังจากพ่อแม่กลับไปแล้ว และความกังวลต่อการแยกจากผู้ปกครองจะค่อยๆลดลง เพราะลูกจะเริ่มเข้าใจการแยกจากแบบชั่วคราวไม่ใช่การทอดทิ้งแต่อย่างใด และการทำซ้ำทุกวันเช่นนี้ เขาจะเริ่มเข้าใจตารางกิจวัตรประจำวันใหม่

ถึงอย่างไรก็ตาม บางครั้งเราอาจจะเห็นเด็กที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยร้องไห้ในอาทิตย์ที่หนึ่งหรือสองของการมาโรงเรียน แต่อยู่ดีๆมาวันนึงก็เกิดร้องไห้ขึ้นมา ซึ่งนั่นเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ การสร้างความต่อเนื่องในการดูแลจะเป็นประโยชน์ต่อเด็ก เด็กจะรู้สึกว่าอย่างไรก็ตาม จะมีคนดูแลเขาในยามที่แยกจากพ่อแม่ เขาไม่ได้ถูกทอดทิ้ง กระบวนการนี้เป็นการสร้างความเชื่อใจและสภาพแวดล้อมที่คาดการณ์ได้

ความกังวลที่ต้องแยกจากกับลูกไม่ได้เกิดแต่กับเด็กเท่านั้น

ตัวผู้ปกครองเองก็จะมีความรู้สึกกังวลเช่นกัน เฉกเช่นนี้การแยกกับลูกครั้งแรกทำให้ผู้ปกครองเกิดความรู้สึกกลัว, กังวล, เศร้า, อารมณเสีย แต่ประสบการณ์ของการมาโรงเรียนในครั้งแรกนั้นมีความสำคัญมากและมีอิทธิพลกับเด็กมากที่สุด ผู้ปกครองจึงต้องเข้มแข็งและเตรียมตัวจัดการความรู้สึกเหล่านั้นให้ได้ ยิ่งผู้ปกครองแสดงความกังวลมากเท่าไหร่ ก็จะเป็นตัวขัดขวางพัฒนาการการเติบโตเและความสามารถในการเรียนการเรียนรู้ของเด็ก

สัญญาณ ที่บอกได้ว่าเด็กมีความกังวลใจในการแยกจาก

(SIGN OF SEPARATION ANXIETY)

เด็กอาจ…...

  • พูดว่าไม่อยากไปโรงเรียน

  • ต่อต้านการตื่นเช้า

  • ร้องไห้เมื่อพ่อแม่ไปแล้ว

  • เดินเต็ดเตร่แทนที่จะหาอะไรทำ

  • เลี่ยงคุณครู

  • ดูดนิ้วโป้งหรือฉี่รดกางเกง

  • เล่นตัวเวลาพ่อแม่มารับ เช่น บอกว่าอยากเล่นหรืออยู่ต่อ (งอนที่ต้องรอมาทั้งวัน อยากให้พ่อแม่เป็นฝ่ายรอตัวเองบ้าง)

  • บ่นหรืออ้างว่ากลัวเด็กคนอื่นแกล้ง

  • โกรธพ่อแม่หรือพี่น้องด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ

  • อ้างว่าปวดท้องก่อนไปโรงเรียน

สัญญาณ ที่บอกได้ว่าพ่อแม่มีความกังวลใจในการแยกจาก

พ่อแม่อาจ…...

  • หาเหตุผลในการไปโรงเรียนสาย

  • อธิบายให้ครูฟังว่าลูกเป็นยังไง

  • รู้สึกเขม่นครู

  • รู้สึกอายหรือโกรธเวลาลูกร้องไห้

  • แยกจากลูกโดยไม่บอกลา

  • บอกลามากกว่าหนึ่งครั้ง ต่อการแยกจาก

  • รู้สึกหงุดหงิดที่ไม่รู้ว่าลูกทำอะไรบ้างที่โรงเรียน

  • ถามครูว่าลูกทำอะไรในแต่ละวัน

  • โกรธคู่สมรส, ลูก, ตัวเอง ด้วยเรื่องเล็กน้อย

  • อยู่กับลูกนานมากเกินในช่วงวันแรกๆ

ต้องทำอย่างไร (What to do)

เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม รู้ตัวล่วงหน้าว่า ความรู้สึกและสัญญาณที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ พ่อแม่ทุกคนก็ได้ผ่านพ้นช่วงเวลานี้มาแล้วเช่นกัน ซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเอง ตระหนักรู้ว่าการแยกจากมันยาก และหากว่าคุณได้ตัดสินใจแล้วว่า ลูกของคุณพร้อมที่จะไปโรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนที่คุณไว้ใจและเชื่อมั่น เคารพในการตัดสินใจของคุณ หลังจากนั้นขอให้คุณผ่อนคลาย ทำใจให้สบาย แล้วคุณจะสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้อย่างง่ายดาย

บอกให้ลูกของคุณรู้ว่ามันไม่เป็นไร ถึงแม้เขาจะมีความรู้สึกเศร้าเสียใจ กลัว หรือโกรธ และยังคงต้องไปโรงเรียน นี่เป็นการวางรากฐานที่จะช่วยลูกของคุณให้เข้าใจว่า ถึงแม้ว่ามีประสบการณ์ใหม่ๆที่เข้ามาในชีวิต ส่งผลทำให้เขามีความรู้สึกในทางบวกหรือลบ แต่เขายังมีพ่อแม่ที่คอยสนับสนุนและให้กำลังใจเขาอยู่เสมอ

เวลาอยู่บ้าน ใช้เวลาอย่างมีคุณภาพกับลูก พูดคุยทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อสร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัว

หากมีบทสนทนาเกี่ยวกับความกังวลใจของการมาโรงเรียน หรือการปรึกษาหารือระหว่างผู้ปกครองเองที่บ้าน หรือระหว่างผู้ปกครองกับคุณครู แนะนำว่าควรกระทำในที่ลับตาเด็ก หรือแน่ใจว่าเด็กจะไม่ได้ยินบทสนทนาที่เป็นเชิงลบ อย่าคิดว่าลูกจะไม่เข้าใจ เขาเข้าใจและรับรู้ถึงความรู้สึกในทางลบได้ เด็กไม่สามารถมีความรู้สึกบวกในการมาโรงเรียนได้หากเขารู้ว่าพ่อแม่เองก็ยังคิดลบ เด็กๆต้องการความเชื่อใจของผู้ใหญ่ทุกๆคนที่อยู่รอบๆตัวเขา



 
 
 

Comentários


Recent Posts
Featured Posts
Follow Us
Search By Tags
Archive
bottom of page